Saturday, July 18, 2009

รู้ไหม "สุริยุปราคา" มีกี่ประเภท?

สุริยุปราคา สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ตามลักษณะเงาของดวงจันทร์ที่ตกระทบพื้นโลกและค่าอัตรส่วนระหว่างขนาดปรากฏ ของดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ในขณะที่เกิดสุริยุปราคา

สุริยุปราคาเต็มดวง (เครดิตภาพ : Reuters/Ints Kalnins)

สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse)
เกิดจากการที่ดวงจันทร์มีวงโคจรค่อนข้างรี ดังนั้นดวงจันทร์จึงมีโอกาสอยู่ใกล้หรือไกลจากโลกได้ ถ้าเกิดสุริยุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลก เราจะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงจันทร์สามารถบดบังดวงอาทิตย์ได้ทั้งหมด เกิดเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง โดยเส้นทางที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านบนผิวโลกนี้เรียกว่า Path of Totality และตลอดเส้นทางที่อยู่ภายใต้เงามืดของดวงจันทร์นี้จะสามารถมองเห็น ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงได้ โดยแต่ละจุดที่อยู่บนเส้นทางดังกล่าวจะมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงในช่วงเวลา สั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากเงาของดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปค่อนข้างเร็ว

สุริยุปราคาวงแหวน (เครดิตภาพ : REUTERS/Beawiharta)
สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse)
เกิดจากการที่ดวงจันทร์มีวงโคจรค่อนข้างรี ดังนั้นดวงจันทร์จึงมีโอกาสอยู่ใกล้หรือไกลจากโลกได้ ถ้าเกิดสุริยุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ตำแหน่งไกลจากโลก เราจะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงจันทร์ไม่สามารถบดบังดวงอาทิตย์ได้ทั้งหมด จึงมองเห็นดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นวงแหวนสว่าง เกิดเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ถ้าเราอยู่นอกโลกและมองเหตุการณ์นี้ เราจะเห็นเงามืดของดวงจันทร์ทอดไปไม่ถึงโลก แต่จะเป็นเงา antumbra ที่ทอดไปถึงโลกแทน ส่วนเส้นทางที่เงา antumbra พาดผ่านบนพื้นโลกเรียกว่า path of annularity และตลอดเส้นทางนี้เราจะเห็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน

สุริยุปราคาแบบผสม (เครดิตภาพ : UCL/Fred Espenak/Stephan Heinsius)
สุริยุปราคาแบบผสม (Hybrid Solar Eclipse)
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดสุริยุปราคาแบบเต็มดวงและสุริยุปราคาแบบวงแหวน ในคราวเดียวกัน สาเหตุมาจากการที่โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ อยู่ในตำแหน่งที่ทำให้มองเห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์และของดวงอาทิตย์มีขนาด เกือบเท่ากัน หรือใกล้เคียงกันมาก ทำให้มีทั้งเงามืดและเงา antumbra ของดวงจันทร์ทอดลงบนพื้นโลก และ ณ บางตำแหน่งบนผิวโลก เราจะมองเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง แต่ ณ บริเวณอื่นๆ เราจะมองเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ดังนั้น สุริยุปราคาแบบผสมจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า annular-total eclipse

สุริยุปราคาบางส่วน (เครดิตภาพ : สดร.)
สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse)
เกิดจากตำแหน่งของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ไม่ได้อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันขณะเกิดสุริยุปราคา ทำให้มองเห็นเฉพาะเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นโลก ณ บริเวณนั้น และภายในเงามัวนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังไปเพียงบางส่วนเท่านั้น เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์มีลักษณะเว้าแหว่ง ปรากฎการณ์นี้ยังสามารถเห็นได้ตลอดตามเส้นทางที่เกิดสุริยุปราคาวงแหวน หรือสุริยุปราคาเต็มดวง

* ข้อมูลจากคู่มือสุริยุปราคาในประเทศไทย ปี 2552-2553 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 กรกฎาคม 2552 10:33 น.

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon