Wednesday, July 15, 2009

ทีม iRAP_PRO มุ่งต่อยอดรักษาแชมป์หุ่นกู้ภัยฯปี 53

Pic_19618
หลังจากคว้าแชมป์โลกมาได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 4 ด้านเครือเอสซีจี มอบเงินสนับสนุน 6 แสนบาท ตัวแทนทีมเผยยังอ่อนซอฟต์แวร์ต้องเร่งปรับปรุง...

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า หลังจากที่ทีมเยาวชนไทย iRAP_PRO จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก 2009 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย มาได้สำเร็จและรักษาแชมป์ไว้ได้ 4 ปีติดต่อกัน เอสซีจี ชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ จึงมอบเงินสนับสนุน 600,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจ และหวังว่าทีมเยาวชนของไทยจะตั้งใจฝึกฝนพัฒนาองค์ความรู้ พร้อมทั้งเพิ่มสมรรถนะของหุ่นกู้ภัยให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น เพื่อนำไปใช้งานจริงในอนาคต


นาย ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระพระนครเหนือ กล่าวว่า รางวัลแชมป์โลกของทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP_PRO เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่าความสามารถของเด็กไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทำผลงานยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับ 1 ในทุกรอบการแข่งขัน เอาชนะคู่แข่งที่เป็นมืออาชีพ และมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น อิหร่าน สวีเดน และออสเตรเลีย โดยทางมหาวิทยาลัยฯ จะยังคงมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกทางความสามารถ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

ด้าน นายจักกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากความสำเร็จที่เยาวชนไทยได้รับมา ทำให้ทีมจากต่างประเทศจับตามองและให้ความสนใจวงการหุ่นยนต์ของไทยมากขึ้น ทางสมาคมฯ จึงเตรียมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเวทีระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ที่หลากหลาย และนำมาต่อนยอดช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์ต่างๆ ได้ สำหรับการแข่งขันครั้งล่าสุดนี้ทีมเยาวชาไทยได้นับการสนับสนุน ดูแลเรื่องอาหารและที่พักเป็นอย่างดี เพราะต้องการให้เยาวชนทุกคนมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนการป้องกันแชมป์ในปี 2553 ไม่น่าห่วงเพราะทุกคนพร้อมอยู่แล้ว

นายวิบูลย์ ชื่นแขก คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีฯ พระนครเหนือ กล่าวว่า จากนี้ไปทีมหุ่นยนต์ของสถาบันฯ คงต้องมุ่งเน้นในจุดที่ยังโดดเด่น ที่ทีมคู่แข่งต่างชาติยังไม่มี แต่ต้องพัฒนาในจุดที่ยังด้วยกว่าคนอื่น เช่น ระบบแผนที่และเซ็นเซอร์วัดระยะที่ยังสู่ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ ส่วนหุ่นยนต์ต้องเพิ่มความแข็งแรง และประสิทธิภาพให้มากขึ้น โดยน่าภูมิใจที่หุ่นทุกตัวมาจากการออกแบบของเด็กไทย โดยคงต้องหันมาปรับปรุงเรื่องการลดน้ำหนักของหุ่น และการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่สำหรับการแข่งขันในปี 2553 ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยฯ จะสนับสนุนทีมหุ่นยนต์ด้วยการทำห้องพิเศษ เพื่อให้ทีมหุ่นยนต์ได้ทำงานเต็มที่

ส่วน นายธีรวัฒน์ เบ็ญจวิไลกุล ฝ่ายออกแบบเครื่องกล ทีม iRAP_PRO ในฐานะโฆษกทีม กล่าวว่า ขณะนี้ การวางแผนพัฒนาจากนี้ หุ่นที่มีอยู่ในเรื่องระบบกลไกค่อนข้างดีอยู่แล้ว การทรงตัวมีความเสถียร แต่อาจต้องทำหุ่นให้เล็กและบางลง เพื่อเข้าในที่แคบๆ และลดน้ำหนัก ขณะเดียวกันจุดอ่อนที่ยังต้องพัฒนา คือ ระบบซอฟต์แวร์ แผนที่นำทาง และเลเซอร์วัดระยะ รวมทั้งล้อตีนตะขาบที่จะมีการเปลี่ยนสายพานแบบใหม่ เป็นแบบที่บาง น้ำหนักเบา แต่ยืดหยุ่นได้สูง อย่างไรก็ตามเมื่อดูหุ่นคู่แข่งแล้ว ญี่ปุ่นค่อนข้างน่ากลัว เพราะทีมไทยจะแพ้ที่ระบบแผนที่ และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ แต่จะได้เปรียบเรื่องการเคลื่อนที่คล่องแคล่วกว่า

ฝ่ายออกแบบเครื่องกล ทีม iRAP_PRO กล่าวด้วยว่า ทีมต่างประเทศมีหุ่นที่ใช้วัสดุดี เทคโนโลยีราคาแพง แต่ทีมไทยก็ชนะมาได้แม้ว่าจะมีงบประมาณน้อย และวัสดุเทคโนโลยีด้อยกว่า เพราะมีงบประมาณจำกัด และต้องใช้ให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์ และทุกอย่างมาจากทีมงานที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ขณะที่ทีมญี่ปุ่นเป็นทีมรวมดาวจากมหาวิทยาลัย 2 แห่ง และมีอาจารย์ระดับดอกเตอร์มาดูแลตลอดการแข่งขัน อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่เขาใช้มีราคาแพงหลายตัว แต่หุ่นเมืองไทยใช้รุ่นเก่ามีจุดเดียวแต่ชนะได้ก็พึงพอใจแล้ว

ข่าวจาก : ไทยรัฐ
...........................................................................

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon