Thursday, June 25, 2009

ดินแดนสุวรรณภูมิ

ดินแดนสุวรรณภูมิ




ดินแดนสุวรรณภูมิ คำว่า สุวรรณภูมิ หมายถึง "แผ่นดินทอง" ส่วนมากปรากฏในคัมภีร์ชาดก เช่น มหาชนกชาดก กล่าวถึงพระมหาชนกเดินทางมาค้าขายที่สุวรรณภูมิ แต่เรือแตกกลางทะเล ในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 ราว พ.ศ. 234 พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระธรรมทูตมาเผยแผ่พุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ โดยมีพระโสณะและพระอุตตระเป็น ประธาน เมื่อท่านมาถึง ได้ปราบผีเสื้อสมุทรที่ชอบเบียดเบียนชาวสุวรรณภูมิ ทำให้ชาวสุวรรณภูมิเลื่อมใส จากนั้นท่านได้แสดงพรหมชาลสูตร เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนปราบผีเสื้อสมุทร ท่านได้สวดพระปริตรป้องกันเกาะสุวรรณภูมิไว้ จึงมีคำเรียก สุวรรณภูมิ อีกชื่อหนึ่งว่า สุวรรณทวีป แปลว่า เกาะทอง เมื่อสันนิษฐานจากสองคำนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปอย่างน้อย 2 อย่าง คือ

1 สุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่เป็นแผ่นดินใหญ่

2 สุวรรณทวีป คือ เกาะที่อยู่ติดกับสุวรรณภูมิ

เนื่องจากในชาดกกล่าวว่า สุวรรณภูมิอยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย เมื่อพิจารณาจากแผนที่โลก จึงสันนิษฐานได้ว่า สุวรรณภูมิ ส่วนที่เป็นแผ่นดิน ได้แก่ พม่า ไทย กัมพูชา ส่วนสุวรรณทวีป ที่เป็นเกาะ ได้แก่ หมู่เกาะชวา สุมาตรา หรืออินโดนีเซีย รวมทั้งฟิลิปปินส์ เมื่อพิจารณาหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาพบว่า เมืองหงสาวดี และเมืองนครปฐมสมัยทวารวดี มีอายุเก่าแก่ที่สุด และร่วมสมัยกัน คือ ราว พุทธศตวรรษที่ 6 แต่ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในแถบนี้ ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดราว พุทธศตวรรษที่ 11-12 อยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดยพบธรรมจักรมากมาย จึงสันนิษฐานว่า ศูนย์กลางสุวรรณภูมิน่าจะอยู่ที่เมืองโบราณบริเวณพระปฐมเจดีย์จังหวัดนครปฐม




ดินแดนสุวรรณภูมิ ใน ไทย ลาว พม่า มอญ มีเจดีย์ พุทธวิหาร พระบรมสาริกธาตุ พระพุทธบาทมากมายหลายแห่ง ซึ่งมีลักษณะเด่นถ่ายทอดมาถึงวัดไทยในปัจจุบัน จะมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละภูมิภาค แต่องค์ประกอบยังคงเหมือนกันเช่น พระเสมหธาตุ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอาเจียน ออกมาเป็นพระโลหิต พบที่วัดเพชรพลี จังหวัดเพชรบุรี นอกจากนี้ ยังมีถ้ำพระพุทธฉาย รอยพระพุทธบาท อยู่หลายแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ


ส่วนวัดในอินเดียหรือเนปาลในปัจจุบัน มีลักษณะออกไปทางฮินดู ไม่ประณีต แม้แต่พระเจดีย์ ที่พุทธคยาก็มีรูปร่างแปลก ฝีมือการก่อสร้างก็มีความประณีตสู้พระเจดีย์ ในประเทศไทย เช่น ที่วัดอรุณ พระแก้วมรกต พระธาตุพนม จังหวัดหนองคาย หรือ พระมหาเจดีย์ที่ผาน้ำย้อย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น สถานที่สร้าง ครอบพระพุทธรูปปางไสยาสน์จำลอง ที่เมืองซึ่งอ้างว่าเป็นกุสินาราย ก็สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่พระเศียรหนุนหมอน แต่ในพระคัมภีร์บรรยายว่า ซึ่งประทับนอน โดยใช้พระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร

เรื่องสุวรรณภูมิหรือดินแดนแห่งทองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพระศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา มีเค้ามูลมาจากหนังสือทีปวงศ์และมหาวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารของลังกาที่ระบุว่า หลังพระปรินิพพานของสมเด็จพระบรมศาสดาราว 276 ปี พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งแคว้นมคธในประเทศอินเดียได้โปรดให้ทำการสังคายนาครั้งที่ 3 ที่กรุงปาฏลีปุตร และโดยพระราชประสงค์ที่จะให้พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ประโยชน์แก่ชาวโลก จึงทรงโปรดให้พระเถระเป็นสมณทูตแยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนา ทั้งภายในและภายนอกประเทศอินเดีย

พงศาวดารลังกา 2 ฉบับ คือทีปวงศ์และมหาวงศ์ ระบุว่าพระโสณะกับพระอุตตระได้มายังสุวรรณภูมิ กิตติศัพท์ของสุวรรณภูมิยังมีอยู่ในชาดกหลายเรื่อง เช่น มหาชนกชาดก สังขพราหมณ์ชาดก สุสันธีชาดก และสุปารกชาดก




วรรณกรรมในศาสนาพราหมณ์หลาย ฉบับ เช่น มหากาพย์รามายณะ ปุราณะ ระบุว่าพ่อค้าชาวอินเดียนิยมเดินทางมาค้าขายกับกลุ่มประเทศทางตะวันออกซึ่ง รู้จักกันในชื่อ 'สุวรรณทวีป' หรือ 'สุวรรณภูมิ' ในจดหมายเหตุจีนสมัยสามก๊ก (ราวพุทธศตวรรษที่ 8) นั้น ราชทูต 2 คน คือ คังไถและชูยิง ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองและอาณาจักรต่างๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ กิตติศัพท์ความมั่งคั่งของดินแดนสุวรรณภูมิ มีปรากฏอยู่ในหนังสือคู่มือการเดินเรือมาค้าขายทางซีกโลกตะวันออก สำหรับพ่อค้าชาวยุโรปจำนวน 2 เล่ม คือ บันทึกการเดินเรือของชาวยุโรป (The Periplus of the Erythrean Sea) และหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี (Ptolemy's Geography) ด้วยเหตุนี้ทำให้ มอญ พม่าและไทย ซึ่งเป็นบ้านเมืองที่นับถือพุทธศาสนานิกายดังเดิม (เถรวาท) และอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงอ้างว่าดินแดนสุวรรณภูมิตั้งอยู่ในประเทศของตน สาเหตุสำคัญที่ชาวมอญ ชาวพม่าและชาวไทยพยายามอ้างว่าสุวรรณภูมิอยู่ในดินแดนของตน ก็เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศของคนในดินแดนว่า เป็นผู้นับถือพุทธศาสนามาแต่ครั้งโบราณกาลและเป็นผู้มั่นคงสามารถรักษาพระ ธรรมวินัยไว้ได้อย่างยาวนาน

จากการศึกษาหลักฐานด้านเอกสารและด้านโบราณคดีนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า สุวรรณภูมิคือดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ซึ่งนักวิชาการปัจจุบันได้ประมวลข้อสมมติฐานความเป็นไปได้ไว้ 3 ประการ ดังนี้

1.สุวรรณภูมิ หมายถึงดินแดนที่อุดมไปด้วยแร่ทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นแร่ธาตุที่หายาก ดังนั้นเมื่อมีข่าวลือว่ามีทองคำในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้พ่อค้าตื่นตัวที่เดินทางมาค้าขายเพื่อแสวงหาทองคำ

2. สุวรรณภูมิอาจหมายถึงดินแดนที่มีแหล่งผลิตเครื่องใช้สำริดที่มีส่วนผสมของ ดีบุกในปริมาณสูง ทำให้ผิววัตถุมีสีเหลืองคล้ายสีทอง เป็นที่นิยมของชาวอินเดีย สันนิษฐานว่าพื้นที่ด้านตะวันตกของภาคกลางประเทศไทย น่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้สำริดเนื่องจากขุดพบเป็นจำนวนมากจาก แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

3. สุวรรณภูมิอาจสื่อความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่า หมายถึงดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องเทศและของป่า ซึ่งเป็นสินค้าราคาแพง ดังนั้นเมื่อพ่อค้าเดินทางมาค้าขายในบริเวณนี้แล้วจะร่ำรวยกลับไป จึงเปรียบเป็นดินแดนแห่งทอง




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

วิกิพีเดียไทย
เว็บไซต์ เอ็มไทยดอทคอมล
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
เว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
บทความวิชาการเรื่อง 'สุวรรณภูมิ' โดยศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ข้อมูลจาก คุณกฤตกิตติศักดิ์ ไพตรีจิตต์ นักศึกษาประวัติพุทธศาสนา-ไต้หวัน

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon