Monday, July 13, 2009

ตารางเวลา สุริยุปราคา 22 ก.ค. นี้



เช้าวันพุธที่ 22 ก.ค. 2552 เงาดวงจันทร์จะทาบลงบนผิวโลก เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเห็นได้ภายในเส้นทางแคบๆ ซึ่ง ลากผ่านหลายประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศไทยเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้ได้เช่นกัน แต่เป็นสุริยุปราคาบางส่วน ดวงอาทิตย์เริ่มแหว่งในเวลาประมาณ 7 โมงเช้า และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในอีกราว 2 ชั่วโมงถัดมา

สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉพาะในช่วงวันเดือนดับหรือใกล้วันเดือนดับ ซึ่งตรงกับแรม 14-15 ค่ำ ทางจันทรคติ (บางครั้งเกิดในวันขึ้น 1-2 ค่ำ เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของระบบปฏิทิน) วันนั้นดวงจันทร์โคจรไปอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ระนาบวงโคจรของดวงจันทร์เอียงทำมุมประมาณ 5 องศากับระนาบวงโคจรโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่วนใหญ่ดวงจันทร์จึงอยู่เหนือหรือใต้ดวงอาทิตย์ ทำให้ไม่เกิดสุริยุปราคา หากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้จุดตัดระหว่างระนาบวงโคจรทั้งสองซึ่งเรียก ว่าจุดโหนด (Node) เงาดวงจันทร์จะทาบลงบนผิวโลก ผู้คนที่อยู่ใต้บริเวณที่เงาพาดผ่านจะมองเห็นสุริยุปราคา

เงาดวงจันทร์มี 2 ส่วน คือ เงามืดและเงามัว หากเงามืดทอดลงมาถึงพื้นโลก คนที่อยู่ในเงามืดจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังมิดหมดทั้งดวง เรียกว่าสุริยุปราคาเต็มดวง เงามัวกว้างและครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ผิวโลกที่อยู่ในเขตเงามัวจะเห็นสุริยุปราคาที่เกิดในวันเดียวกันนั้นเป็น สุริยุปราคาบางส่วน

วงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกและวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับโลกและระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ไม่คงที่ ขนาดปรากฏของทั้งคู่จึงแปรผันไปตามระยะห่าง สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากพอที่จะสามารถบดบัง ดวงอาทิตย์ได้มิดหมดทั้งดวง ท้องฟ้ามืดลงคล้ายเวลาพลบค่ำ และสามารถมองดูปรากฏการณ์ได้ด้วยตาเปล่า แต่ถ้าดวงจันทร์อยู่ไกลจนมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ จะเกิดสุริยุปราคาวงแหวน สังเกตด้วยตาเปล่าไม่ได้ ต้องใช้แผ่นกรองแสงเช่นเดียวกับในช่วงที่เกิดสุริยุปราคาบางส่วน

สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดได้ค่อนข้างบ่อย อาจเกิดติดกันปีละครั้งหรือห่างกันปีเว้นปี แนวคราสเต็มดวงแต่ละครั้งทอดยาวนับพันกิโลเมตรแต่ก็แคบมาก กินพื้นที่ไม่ถึง 1% ของผิวโลก เส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวงผ่านประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2538 ครั้งถัดไปจะผ่านในวันที่ 10 เม.ย. 2613 ความสวยงามและการที่มันมีโอกาสสังเกตได้ยาก จึงทำให้นักดาราศาสตร์และนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปยังที่ต่างๆ ที่เส้นทางสุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งพาดผ่าน

สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 22 ก.ค. 2552 ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเกิดขึ้นหลังจากดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีเพียงไม่กี่ ชั่วโมง ขณะเดียวกันโลกก็เพิ่งจะผ่านตำแหน่งไกลสุดจากดวงอาทิตย์ไม่กี่สัปดาห์ ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 8% เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนานกว่า 6 นาที ที่จุดกึ่งกลางคราส

ศูนย์กลางเงามืดของดวงจันทร์ เริ่มแตะผิวโลกตรงชายฝั่งด้านทิศตะวันตกของอินเดีย ที่นั่นเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 3 นาทีขณะดวงอาทิตย์ขึ้น จากนั้นเงามืดเคลื่อนไปทางตะวันออกผ่านเนปาล บังกลาเทศ ภูฏาน และตอนบนสุดของพม่า เข้าสู่ประเทศจีนและผ่านเซี่ยงไฮ้ จากนั้นลงสู่ทะเลจีนตะวันออก ผ่านหมู่เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น จุดที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกนาน 6 นาที 39 วินาที โดยเกิดขึ้นในเวลา 09.29 น. จุดนั้นเงามืดของดวงจันทร์กว้าง 258 กิโลเมตร นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษนี้ นานกว่าครั้งใดๆ นับจากนี้จนถึงปีค.ศ. 2132 เงามืดผ่านเกาะเล็กๆ ในหมู่เกาะมาร์แชล ก่อนจะสิ้นสุดในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่นั่นเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงขณะดวงอาทิตย์ตกนาน 3 นาที

บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วน ได้แก่ ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศไทยเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้ได้ทั่วทุกภูมิภาค โดยภาคเหนือ และอีสานตอนบนจะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งตรงข้ามกับสุริยุปราคาเมื่อเดือนม.ค. 2552 กรุงเทพฯ เริ่มเวลา 07.07 น. บังเต็มที่เวลา 08.04 น. และสิ้นสุดในเวลา 09.09 น. ดวงอาทิตย์จะเริ่มแหว่งทางซ้ายมือด้านบนและไปสิ้นสุดทางซ้ายมือด้านล่าง ขณะบังเต็มที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไปครึ่งดวง (วัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลาง) ส่วนเวลาของจังหวัดอื่นๆ และรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย http://thaiastro.nectec.or.th

การสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนต้องระวัง เพราะแสงอาทิตย์สว่างจ้ามาก การดูผ่านแผ่นกรองแสงหรือสังเกตการณ์ทางอ้อมเป็นวิธีที่ช่วยป้องกัน และหลีกเลี่ยงอันตรายจากแสงอาทิตย์ แผ่นกรองแสงที่ใช้ควรเป็นชนิดที่ออกแบบมาสำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ การสังเกตการณ์ทางอ้อมที่ทำได้คือให้แสงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้อง สองตาลงไปปรากฏบนฉากรับภาพ

ถ้าไม่มีแผ่นกรองแสงหรืออุปกรณ์ใดๆ เลย ก็สามารถสังเกตได้โดยนำกระดาษมาเจาะรูขนาดประมาณ 1 ซม. ไปปิดที่กระจกเงา แล้วนำกระจกเงาบานนั้นไปรับแสงอาทิตย์ ให้แสงสะท้อนไปตกที่ผนังสีอ่อนหรือฉากรับภาพสีขาวในที่ที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ ถึง เมื่อเกิดสุริยุปราคา ภาพดวงอาทิตย์บนฉากจะเว้าแหว่งไปตามดวงอาทิตย์ที่ปรากฏบนท้องฟ้า

ต้นปีหน้าจะเกิดสุริยุปราคาวงแหวนในวันศุกร์ที่ 15 ม.ค. 2553 เส้นทางคราสวงแหวนผ่านทวีปแอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย ทางใต้ของประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า และจีน ประเทศไทยอยู่นอกแนวคราสวงแหวน จึงเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนในช่วงเวลาประมาณเวลาบ่าย 2 โมงถึง 5 โมงเย็น ซึ่งน่าจะสังเกตได้ชัดเพราะยังอยู่ในฤดูหนาว หลังจากนั้นประเทศไทยจะไม่เห็นสุริยุปราคาอีกจนถึงปี 2555

ท้องฟ้าในรอบสัปดาห์ (12-19 ก.ค.)

ดาวเสาร์ (โชติมาตร +1.1) ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่ปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ดาวเสาร์อยู่ทางทิศตะวันตกด้วยมุมเงย 40 องศา ขณะที่ท้องฟ้าเริ่มมืด จากนั้นเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดี (โชติมาตร –2.8) อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล เวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง เริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่สูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกด้วยมุมเงย 10 องศา มันจะค่อยๆ เคลื่อนสูงขึ้น และมองเห็นได้ตลอดทั้งคืน ดาวพฤหัสบดีขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะในเวลาเกือบตี 3 และอยู่สูงทางทิศตะวันตกที่มุมเงย 45 องศาในเวลาเช้ามืด

เวลาประมาณตี 3 ครึ่ง น่าจะเห็นดาวอังคาร (โชติมาตร +1.1) และดาวศุกร์ (โชติมาตร –4.1) อยู่ทางทิศตะวันออกในกลุ่มดาววัว ดาวศุกร์สว่างกว่าดาวอังคารมาก แต่อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากกว่า เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 19 ก.ค. ดวงจันทร์ซึ่งสว่างเป็นเสี้ยวปรากฏทางซ้ายมือของดาวเคราะห์คู่นี้

สัปดาห์นี้เป็นข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทุกวันในเวลาเช้ามืด ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในช่วงกลางสัปดาห์ หลังจากนั้นเช้ามืดวันเสาร์ที่ 18 ก.ค. จะเห็นดวงจันทร์จะอยู่สูงเหนือกระจุกดาวลูกไก่โดยห่างกันไม่มาก สังเกตได้ดีด้วยกล้องสองตา วันถัดไปดวงจันทร์เคลื่อนไปทำมุมสามเหลี่ยมกับดาวศุกร์และดาวอังคาร

กลางสัปดาห์กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.58 น. ตกเวลา 18.50 น. เชียงใหม่ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.55 น. ตกเวลา 19.05 น. ภูเก็ตดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.16 น. ตกเวลา 18.48 น. อุบลราชธานีดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.38 น. ตกเวลา 18.35 น.

ที่มา posttoday.com

............................................................

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon