Monday, July 27, 2009

ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ทำความรู้จักกับเว็บเครือข่ายสังคม


เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ต่างก็เป็นเว็บไซต์ชนิดที่เรียกกันว่า “เว็บไซต์เครือข่ายสังคม” หรือ “โซเชี่ยล เน็ตเวิร์กกิ้ง ไซต์” อันหมายถึงศูนย์รวมของคนที่มีความคิด ความเห็น ความชอบ ไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับใช้เป็นจุดแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ส่วนที่จะให้แสดง

เฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊ก เกิดก่อนทวิตเตอร์ยาวนานและได้รับความนิยมสูงมาก โดยเฉพาะในสหรัฐที่เป็นต้นกำเนิด เป็นที่นิยมกันในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยก่อนกระจายไปสู่แวดวงอื่นๆ ในเวลาต่อมา และกลายเป็นต้นแบบของ เว็บไซต์ประเภทเดียวกันที่เกิดขึ้นตามมามากมาย รวมทั้ง ไฮไฟว์ และ ทวิตเตอร์ ซึ่งกลายเป็น 3 เว็บไซต์เครือข่ายสังคมยอดฮิตที่มีสมาชิกลงทะเบียนและใช้งานประจำหลายนับ ร้อยล้านคนทั่วโลกอยู่ในเวลานี้

เฟซบุ๊ก ของแต่ละบุคคล สามารถอัพโหลดภาพถ่าย ข้อความ หรือวิดีโอ และอื่นๆ ขึ้นไปเก็บไว้ได้ตามต้องการ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกของไซต์ หรือที่เรียกว่า “กลุ่มเพื่อน” เข้าไปติดตามดูได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มเพื่อนดังกล่าวแสดงความคิดเห็น หรืออื่นๆ ตอบได้ด้วย

เฟซบุ๊ก สามารถกำหนดให้เป็นแบบจำกัดกลุ่ม คือให้สามารถเปิดดูได้เฉพาะผู้ที่สมัครเข้ามาเป็น “กลุ่มเพื่อน” และได้รับการกลั่นกรองและ “ยอมรับ” จากเจ้าของเว็บไซต์ หรือจะเป็นแบบเปิดกว้าง ให้ทุกคนสามารถเห็นได้ และแสดงความคิดเห็นตอบได้

เฟซบุ๊ก ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองหลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง ก็คือ เฟซบุ๊ก ของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเปิดใช้งานระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา และจนกระทั่งถึงขณะนี้มี “กลุ่มเพื่อน” มากถึงกว่า 6 ล้านคน

เฟซบุ๊ก ยังถูกนำมาใช้เพื่อการเคลื่อนไหวรณรงค์ด้านต่างๆ อาทิ การรณรงค์เพื่อสร้างกระแสให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าเป็นอิสระ เป็นต้น

ทวิตเตอร์

ทวิตเตอร์ เป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า “มินิ โซเชี่ยล เน็ตเวิร์กกิ้ง ไซต์” หรือ “ไมโครบล็อก” เปิดใช้งานมาหลายปีแต่เพิ่งเป็นที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเมื่อต้น ปีที่แล้วและมีชื่อเสียงสูงสุดในปีนี้ เมื่อมีบทบาทสูงมากในการดำเนินงานทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลใน อิหร่าน

ทวิตเตอร์ เป็นเว็บไซต์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก บอกเล่าถึงความเคลื่อนไหวของตนเอง เหตุการณ์ปัจจุบัน และความคิดเห็น ได้ด้วยข้อความสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร และเปิดโอกาสให้ “ผู้ติดตาม” หรือ “ฟอลโลว์เออร์” สามารถติดตามได้ตลอดเวลาตามเวลาจริงที่มีการอัพโหลดข้อความ ด้วยการคลิก “อัพเดต” นอกจากนั้นยังสามารถกำหนดตัวเองให้เป็นผู้ติดตาม หรือ “ฟอลโลว์อิ้ง” ทวิตเตอร์ ไซต์อื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน

ข้อดีประการหนึ่งของ ทวิตเตอร์ ก็คือ การสามารถอัพเดตข้อมูลได้ตามเวลาจริง นอกจากนั้นมันยังสามารถใช้ได้กับสื่อหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถใช้ในการอัพโหลดข้อความ หรือติดตามอัพเดต ได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา

ข้อจำกัดของทวิตเตอร์ นอกจากจะเป็นขนาดสั้นๆ ของข้อความแล้ว ยังจำกัดอยู่เพียงแค่รูปแบบของข้อความเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถอัพโหลดภาพหรือวิดีโอ ไปเก็บไว้ในไซต์ได้ อย่างไรก็ตาม ทวิตเตอร์ ไซต์ สามารถใช้เป็นประโยชน์ในการเก็บ “ลิงก์” เพื่อเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ที่เก็บภาพหรือวิดีโอได้เช่นกัน

ขบวนการ “กรีน” เพื่อต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน ใช้ ทวิตเตอร์ เล็ดลอดการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตของทางการอิหร่าน เพื่อเปิดโปงการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการนำเสนอความเคลื่อนไหวแบบนาทีต่อนาที และส่งลิงก์เชื่อมโยงไปยังภาพและวิดีโอเพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงการปราบปราม อย่างโหดเหี้ยมดังกล่าว จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก และมีผู้ติดตามในแต่ละครั้งหลายหมื่นคน
ขอบคุณเนื้อหาข่าวข้อมูลและภาพ
http://news.mthai.com/webmaster-talk/52655.html

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon