Saturday, July 11, 2009

ของเลี้ยงในวันงาน ตามประเพณีโบราณ





++ ก่อนอื่นขอพูดถึงของถวายพระก่อน เกี่ยวกับเรื่องทำบุญ สำหรับนำไปวัด ในสมัยโบราณเขาใช้ภาชนะเป็นกระบุงสานด้วยไม้ไผ่ ผูกขอบเป็นสันปลาช่อน กับมีฝาชีทาสีแดง พู่ยอดฝาชีใช้ด้ายดิบ ก้นกระบุง ใส่ข้าวสาร มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า ใส่ให้เต็ม จนถึงขอบปากกระบุง บนปากกระบุงใส่ขนม ซึ่งบรรจุในกระทงเจิม กล้วยที่ถวายพระสงฆ์นั้น ใช้แต่กล้วยน้ำว้าอย่างเดียว





ต่อมาเมื่อมีกระถาง หรือโอ่งใช้ ก็ใช้กระถางหรือโอ่งแทนกระบุง ใช้ข้าวสารใส่ก้นกระถาง มะพร้าวอ่อน ก็เปลี่ยนเป็นมะพร้าวห้าว แล้วยังมีแถมกะปิ น้ำปลา พริก หอม กระเทียม เนื้อเค็ม ปลาเค็ม กระเทียมดองอีกด้วย ใส่จนเต็มพระถาง ปากกระถางใช้แต่ขนมกงอย่างเดียว ขนมอย่างอื่น เช่น ข้าวเหนียวแดง หน้าเหนียวแก้ว กะละแม ก็เปลี่ยนเป็นขนมจันอับ ใส่กระทงเจิมเหมือนกัน (ถ้าสมัยนี้เปลี่ยนเป็นขนมเค้ก) ส่วนฝาชีทาสีแดง เปลี่ยนเป็นหุ้มผ้าแดงยอด ด้านดิบเปลี่ยนเป็นผ้าขาวแดงตัดกลมๆผูกแทน เป็นเรื่องเปลี่ยนไปตามสมัย และในการเลี้ยงพระ อย่ามัวนึกแต่เรื่องพระฉันอิ่มหรือไม่อิ่ม ต้องนึกถึงเลี้ยงพวกลูกศิษย์ ที่ติดตามพระมาด้วย





++ กับข้าวที่ใช้เลี้ยงในงาน ห้ามไม่ให้มีแกงบวน ต้มยำ และผักยำ ตลอดจนแกงร้อน เพราะชื่อของมันไม่ดี เป็นบวนๆ ยำๆ กระเดียดใกล้เข้าไปว่า ระยำและร้อนๆ ที่ถือจัดจนกระทั่งหมี่กรอบก็ไม่ใช้ เพราะมันหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่ดี ลางร้าย แต่ถ้ามีกับข้าวที่มีถั่วงอกด้วยยิ่งดี เพราะเป็นเครื่องหมายของความงอกงาม จึงนิยมให้มีขนมจีนน้ำยา เป็นต้น เพราะมีถั่วงอกต้ม เป็นเหมือนผัก ทั้งขนมจีนก็เป็นเส้นยาว จะได้ยืดยาวอายุด้วย เพื่อให้ได้สะใจของผู้ปรารถนาอย่างนั้น








++ ขนมหวานในงาน ในการเลี้ยงนี้บางทีที่ยังไม่ใช่เวลารับประทานอาหาร ก็ใช้เลี้ยงของว่างแทนอาหารเช้า การกินเลี้ยงของว่างนี้ เมื่อก่อนเขาเรียกกันว่า กินสามถ้วย คือ ของหวาน 3 อย่าง ได้แก่ ข้าวเหนียวน้ำกะทิ, ข้าวตอกน้ำกะทิ และ ลอดช่องน้ำกะทิ หรือจะเปลี่ยนเป็นของอื่น เช่น มันน้ำกะทิ, เม็ดแมงลักกะทิ หรืออย่างอื่นก็ได้ แล้วแต่จะเตรียมหามาได้สะดวก





++ นอกจากนั้น ยังมีคติเรื่องทำบุญร่วมกัน เช่น การตักบาตรของบ่าวสาวที่กล่าวนี้ว่า เมื่อตายไปเกิดใหม่ชาติหน้า จะได้ร่วมชาติเป็นสุขด้วยกัน เป็นเรื่องนึกหวังก็สบายใจดี บางประเทศมีประเพณีบ่าวสาวกินข้าวร่วมกันในวันพิธีแต ่งงาน ซึ่งคงจะมีความมุ่งหมายไปในทางที่ว่า ได้มาเป็นคู่ครองร่วมสุขร่วมทุกข์ ล่มหัวจมท้ายด้วยกันแล้ว จึงได้กินข้าวร่วมกัน ให้เป็นเครื่องแสดงให้เป็นด้วยตา เช่น ชาวแบงคาลี เจ้าบ่าวเจ้าสาว จะกินข้าวคลุกแกงร่วมภาชนะเดียวกัน พิธีชาวเยอรมัน เจ้าบ่าวสาวต้องกินซุป ในเวลาเช้าร่วมช้อนคันเดียวกัน พิธีของจีนหรือญี่ปุ่น บ่าวสาวต้องกินเหล้าร่วมกัน และต้องกินให้หมด 3 ถ้วยตามที่กำหนดไว้








++ ส่วนบ้านเรา ประเพณีทางอีสาน เขามีพิธีสู่ขวัญคู่บ่าวสาวที่เรือนของหญิง ให้คู่บ่าวสาวหันหน้าไปทางทิศใต้ แขนผู้ชายทับแขนผู้หญิง และเริ่มทำขวัญ คือเอาด้ายผูกข้อมือซ้ายเจ้าบ่าว และผูกข้อมือขวาเจ้าสาว เสร็จแล้วมีพิธีป้อนไข่ คือเอาไข่ไก่ ที่ฝ่ายชายจัดมา หรือผ่าไข่ขวัญในพิธีทำขวัญ ป้อนให้ฝ่ายหญิงกิน และเอาไข่ที่ฝ่ายหญิงจัด มาป้อนให้ฝ่ายชาย กินสับเปลี่ยนกัน ทางใต้ก็มีเรื่องผูกขวัญ และบ่าวสาวกินร่วมกัน หรือไม่กินน้ำมะพร้าวอ่อนในพิธีทำขวัญ





สรุปไม่ว่าจะเป็นประเพณีที่ไหน การตักบาตร กินเหล้า กินข้าว กินขนม กินไข่ ร่วมกันนั้น ก็ล้วนแต่มีความหมาย ว่าให้ร่วมสามัคคี อยู่ด้วยกันแน่นแฟ้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง







ขอขอบคุณข้อมูลจาก


aromdee.com

............................................................

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon