Thursday, August 6, 2009

ไข่ฟองละ 500 ผลิต วัคซีนหวัด2009

 ไข่ฟองละ 500 พร้อมผลิต วัคซีนหวัด2009
 ไข่ไก่
การเข้าไปภายในอาคารผลิต ไข่วัคซีน สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือต้องปราศจากเชื้อโรคทุกชนิด เพราะไข่ไก่สีขาวบริสุทธิ์ที่มองเห็นนี้ไม่ใช่ไข่ไก่ธรรมดา แต่เป็น "ไข่ไก่ฟักปลอดเชื้อเฉพาะ" หรือไข่เอสพีเอฟ (Specific Pathogen-Free : SPF)
เมื่อกระทรวงสาธารณสุขสั่งให้ ผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้เชื้อไวรัสก็คือ ไข่เอสพีเอฟที่จะนำมาผลิตวัคซีน ซึ่งในประเทศไทยมีแห่งเดียวที่สามารถผลิตได้ คือ สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จุดประสงค์ตอนนั้นก็เพื่อผลิตวัคซีนปีละหลายล้านโดสฉีดให้ไก่ที่จะส่งออกไป ขายยังต่างประเทศ
นสพ.อัตพงศ์ นาคะปักษิณ หัวหน้าฝ่ายผลิตไก่และไข่ปลอดเชื้อเฉพาะ กรมปศุสัตว์ เล่าว่า โรงงานผลิตไข่และวัคซีนลงทุนสร้างตั้งแต่ปี 2539-2541 ด้วยงบประมาณกว่า 786 ล้านบาท ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วถือเป็นโปรเจกท์ยักษ์ใหญ่ สร้างด้วยเทคโนโลยีจากเยอรมนีเกือบทั้งหมด จนถึงวันนี้ก็ยังต้องสั่งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาจากเยอรมนีทุกปี เพราะเราผลิตได้แค่ไข่ไก่บริสุทธิ์ แต่เทคนิคการเพาะตัวไก่ยังเป็นลิขสิทธิ์ที่ไม่เปิดเผย
ไข่ที่จะนำมาผลิตวัคซีนต้อง ปลอดเชื้อตั้งแต่ตัวพ่อ ตัวแม่ สถานที่ อากาศ และอาหารที่ไก่จะกินเข้าไป เริ่มตั้งแต่ไข่ 6,000 ฟองที่แบ่งเป็นพ่อพันธุ์ 1,000 ฟอง และแม่พันธุ์ 5,000 ฟอง จากเยอรมนีเดินทางถึงประเทศไทย จะถูกนำไปเข้า "ตู้ฟัก" นาน 18 วัน จากนั้นก็ย้ายไป "ตู้เกิด" อีก 3 วัน ลูกไก่จึงฟักออกมา เมื่อคัดลูกไก่อ่อนแอและเพศที่ไม่ต้องการทิ้งไป จะเหลือประมาณ 2,000 กว่าตัว เลี้ยงจน 16 สัปดาห์แล้วค่อยกระจายเข้ากรง ช่วงนี้จะต้องเจาะเลือดตรวจทุกตัวว่า ปลอดเชื้อโรคที่กำหนดไว้หรือไม่
ไก่ที่อายุ 18 สัปดาห์จะออกไข่รุ่นแรกเป็นฟองเล็กๆ หรือยังไม่ได้มาตรฐาน ต้องรอจนไก่มีอายุได้ 23 สัปดาห์ขึ้นไป ถึงจะเป็นไข่ที่สมบูรณ์พอส่งไปทำวัคซีนได้ แต่ก่อนส่งต้องทำความสะอาดด้วยการรมฆ่าเชื้อด้วยแก๊สฟอร์มาลดีไฮด์ ไข่ที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปแช่ห้องเย็นอุณหภูมิ 15-18 องศาเซลเซียส รอจนกระทั่งมีการสั่งไข่ปลอดเชื้อจากโรงงานผลิตวัคซีน เพราะวัคซีนแต่ละชนิดต้องการไข่อายุไม่เท่ากัน บางชนิดต้องการไข่อายุ 7 วัน บางชนิดก็ 10 วัน
"แต่ละปีจะสั่งไข่แม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์จากเยอรมนีรวม 1.2 หมื่นฟอง ต้นทุนฟองละ 500 กว่าบาท เพราะตัวไก่เหล่านี้จะใช้งานได้แค่ 1 ปีกว่าก็ต้องปลดระวางทำลายทิ้ง จะปล่อยออกไปข้างนอกไม่ได้ เพราะเป็นไก่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเลย เป็นไก่บริสุทธิ์ ไข่ของมันจึงมีสีขาวใส ไม่เป็นไข่ไก่สีขุ่นเหลืองเหมือนไข่ที่เรากิน อาหารที่ไก่พวกนี้กินก็ต้องสั่งเฉพาะและนำไปฉายรังสีแกมมา ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติเสียก่อน โดยเฉลี่ยแล้วโรงงานของเราผลิตไข่เอสพีเอฟได้วันละประมาณ 1 พันฟอง หรือเดือนละ 3 หมื่นฟอง" นสพ.อัตพงศ์ กล่าว
ด้าน นสพ.สุรพัฒน์ เลาหวณิช หัวหน้าฝ่ายผลิตวัคซีนสัตว์ปีก อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อโรคอย่างละเอียด เพราะไข่เอสพีเอฟจะถูกนำไปฉีดเชื้อไวรัสที่ต้องการผลิตวัคซีน ดังนั้น ขั้นตอนจะละเอียดตั้งแต่เริ่มรับไข่มาจากฟาร์มเลยทีเดียว แม้จะมาจากฟาร์มของสำนักเดียวกันก็ตาม เริ่มจากการฆ่าเชื้อไข่เอสพีเอฟที่รับมาจากอาคารผลิตด้วยฟอร์มาลีน ฉีดเชื้อไวรัสที่ต้องการผลิตวัคซีนเข้าไปในไข่ นำไข่ไปฟักในห้องที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ รอจนไวรัสเจริญเติบโต แล้วนำมาส่องไฟอย่างละเอียด หากพบไข่ใบไหนตายก็ทิ้งไป จากนั้นก็นำมาผสมเป็นวัคซีน โดยไข่ 1 ใบอาจผลิตวัคซีนได้มากถึง 1 พันโดส
ขณะที่ นายประวัติ รัตนภุมมะ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กล่าวถึงโรงงานราคาเกือบ 800 ล้านบาทแห่งนี้ว่า แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ พื้นที่ฟาร์มไข่เอสพีเอฟ ห้องปฏิบัติการ (QC) และโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับไก่ หมู โค กระบือ เช่น วัคซีนนิวคาสเซิล วัคซีนหลอดลมอักเสบ วัคซีนฝีดาษไก่ แต่ละปีผลิตวัคซีนได้ประมาณ 200 ล้านโดส
หากรัฐบาลต้องการขอความช่วย เหลือ เพื่อนำไปผลิตวัคซีนสำหรับคนก็อาจเป็นไปได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ไข่เอสพีเอฟที่กำลังผลิตอยู่นั้น เน้นให้เป็นไข่ปลอดเชื้อโรคที่เกี่ยวกับสัตว์ 18 ชนิด หากจะผลิตวัคซีนมนุษย์ก็ต้องมาทดสอบว่า ต้องการไข่ปลอดเชื้อโรคตัวใดบ้าง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดหรือไม่
"หากตั้งคำถามว่าโรง งานแห่งนี้จะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 สำหรับคนได้หรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ระดับผู้บริหารของกระทรวงและตัวแทนรัฐบาลว่า จะตัดสินใจอย่างไร เพราะตามศักยภาพโรงงานแล้วน่าจะทำได้ แต่ต้องปรับระบบใหม่หลายส่วน ทั้งเรื่องไข่เอสพีเอฟและเชื้อไวรัสสำหรับผลิตวัคซีน ส่วนขั้นตอนการผลิตวัคซีนก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะโรงงานผลิตวัคซีนของไวรัสสัตว์กับคนจะต่างกัน ต้องมีการฆ่าเชื้อโรคในอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ มีการปรับระบบใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งทางสำนักก็พร้อมจะให้ความร่วมมือทุกอย่าง" นายประวัติ ระบุ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://webboard.yenta4.com/topic/329505

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon