Wednesday, June 17, 2009

รักษาสุขภาพตาให้ใสปิ๊ง


ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ เพราะดวงตาสามารถบอกความในใจได้เป็นอย่างดี เป็นอวัยวะที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดบนใบหน้า

แต่ดวงตาก็เหมือนอวัยวะอื่นๆ ที่สามารถเสื่อมได้ตามวัย โดย เฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรใส่ใจสุขภาพตา ควรตรวจความดันตาเหมือนตรวจสุขภาพประจำปีอื่นๆ ของร่างกาย เพราะดวงตาหากไม่ดูแลให้ดีก็สามารถเกิดโรคได้มากมาย ไม่ว่าโรคพื้นๆ อย่าง สายตายาว สายตาเอียง ไล่ไปจนถึงตาแห้ง ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก ต้อหิน สาเหตุเหล่านี้อาจจะทำให้ตาบอดได้หากไม่รักษา

พญ.วทัญญุว์ดี ธนวิสุทธิ์ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า ดวงตาก็เหมือนอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายที่ควรจะต้องใส่ใจดูแลเพราะสามารถ เจ็บป่วยได้ การดูแลรักษาแต่ละช่วงวัยก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคุณหมอจึงให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพตาแต่ละช่วงวัยดังนี้

1.วัยเด็กแรกเกิด กรณีที่ลูกคลอดก่อนกำหนดเพียง 6-7 เดือน เด็กจะมีน้ำหนักน้อยไม่ถึง 1,500 กรัม นอกจากตรวจสุขภาพตามปกติแล้ว คุณหมอจะต้องตรวจดูว่าจอประสาทตาของเด็กขาดเลือดไปเลี้ยงทั่วจอรับภาพหรือ ไม่ หากเลือดเลี้ยงไม่ทั่วจะทำให้จอประสาทตาหลุดลอก ถ้ารักษาช้าไปอาจทำให้ตาบอดได้ หรือกรณีที่แม่เป็นไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด ขณะตั้งครรภ์ ลูกอาจเป็นต้อกระจกแรกคลอดได้
2.อายุ 4 ขวบ ควรพาเด็กไปตรวจตาเพื่อหาความผิดปกติของสายตา เช่น สายตาสั้น สายตาเอียง สายตาไม่เท่ากัน ผิดปกติหรือไม่ เพื่อตรวจสาเหตุและแก้ไขเสียแต่เริ่มแรก เพื่อไม่ให้มีปัญหาสายตาไปในวัยผู้ใหญ่โดยไม่รู้ตัว เช่น สายตาขี้เกียจ ทำให้เด็กมองด้วยตาข้างเดียวเพราะเด็กยังบอกไม่เป็น เนื่องจากลูกตาเกิดมาต้องได้รับแสงกระตุ้นเพื่อพัฒนาการมองเห็น เพราะการมองเห็นไม่ได้เกิดจากตาที่เดียว แต่ต้องใช้ระบบประสาทด้วย ถ้าตาไม่สมบูรณ์สมองก็ทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งพ่อแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อย เช่น เด็กหรี่ตา หยีตา เอียงหน้า เอียงคอ ขณะดูทีวี หรือมองระยะไกลไม่เห็น
3.วัยรุ่น เป็นวัยที่มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสายตาสักเท่าไหร่ หากจะมีมักเป็นปัญหาธรรมดา เช่น ตาสั้น เอียง การใส่แว่นปรับสายตาแก้ปัญหาได้
4.วัยผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 40 ปี เริ่มมีปัญหาเรื่องสายตายาว หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจใช้สายตาเพ่งมอง เวียนหัว บ้านหมุน อาเจียน คลื่นไส้ ตาลาย หากรักษาไม่ตรงจุดคิดว่าเกิดจากปวดศีรษะ ทั้งที่มาจากปัญหาสายตา ควรสังเกตหากมีอาการปวดศีรษะมากๆ ตอนช่วงเย็นบ่อยๆ ทั้งที่ไม่ค่อยปวดหัวมาก่อน ไม่ควรใช้สายตาเพ่งมองระยะใกล้เกินไป เช่น จ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ (ควรพักเป็นระยะๆ ประคบเย็น กลอกตาไปมา)

การเล่นเกม ร้อยลูกปัด อ่านหนังสือในที่มีแสงน้อย วัยนี้ควรตรวจสายตาทุกปี หากพบสายตายาว การใช้แว่นสายตาช่วยได้ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเพ่งในลูกตาอ่อนแรง ลูกตาแห้งน้ำตาน้อย การใช้น้ำตาเทียมช่วยได้
5.วัยสูงอายุ มักมีปัญหา ต้อเนื้อ ต้อกระจก ต้อหิน เกิดขึ้นได้ตามความเสื่อมของวัย แต่หากได้รับการรักษาก็สามารถแก้ไขได้

ต้อเนื้อ

เมื่อ เนื้อเยื่อบุตาที่เกิดความเสื่อม เป็นเนื้อเยื่อแผ่นหนา มีเส้นเลือดลักษณะรูปสามเหลี่ยม มีฐานอยู่บริเวณตาขาวและลุกลามเป็นยอดแหลมเข้าไปบนกระจกตา มักพบทางด้านหัวตามากกว่าหางตา แต่ต้อเนื้อไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง อาจมีอาการระคายเคือง คันตา ตาแดง น้ำตาไหล หรือถ้าต้อเนื้อลามเข้ากระจกตามาก อาจมีผลต่อสายตาเอียงและมองไม่ชัดได้บางครั้งอาจตาพร่าเพราะการกระจายของ น้ำตาผิดปกติ ในกรณีต้อเนื้อลามมาคลุมส่วนกลางกระจกตาอาจทำให้การมองเห็นลดลง

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงได้ดังนี้
1.การโดนแสงอาทิตย์หรือแสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานานๆ
2.การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีลม ฝุ่น ความร้อน ควัน สิ่งสกปรก ความแห้ง
3.การสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือภูมิแพ้ เช่น สารเคมี เป็นเวลานานๆ
4.มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นต้อเนื้อ

การป้องกัน
1.หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เพื่อลดการโดนแสงยูวี
2.ใส่แว่นที่สามารถป้องกันแสงยูวีและเพื่อป้องกันฝุ่น ลม ควัน
3.หลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่มีลม ฝุ่น ความร้อน สิ่งสกปรก ความแห้ง
4.เมื่อตาแห้งแสบตาอาจใช้น้ำตาเทียมหยอดได้ เพราะตาก็เหมือนผิวที่แห้งได้ต้องใช้โลชันช่วย

การรักษา
ควรตรวจสุขภาพตาประจำปี หากมีอาการอักเสบหรือระคายเคืองควรพบจักษุแพทย์เพื่อหยอดยา แต่ปัจจุบันยังไม่มียาสลายต้อเนื้อได้ ต้องใช้วิธีการผ่าตัดลอกออก ไม่ควรซื้อยาหยอดต่อเนื่องเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งต้อเนื้อขนาดใหญ่ทำให้ระดับการมองเห็นลดลงหรืออักเสบบ่อย จักษุแพทย์อาจจะแนะนำผ่าตัดลอกต้อเนื้อ เป็นการผ่าตัดที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ปัญหาที่พบคือการกลับมาเป็นซ้ำ

ต้อกระจก

คือภาวะการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของแก้วตาหรือเลนส์ตาจากที่เคยใสเป็นขุ่น แก้ว ตาทำหน้าที่ในการรวมแสงให้ตกบนจอประสาทตา เมื่อแก้วตาขุ่นทำให้แสงผ่านไปถึงจอประสาทตาลดลง และส่งผลกระทบต่อการรวมแสง

สาเหตุ
ที่พบบ่อยที่สุดคือภาวะสูงอายุ ซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความขุ่นของแก้วตาจะเพิ่มขึ้น สาเหตุรองลงมาคืออุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น โดนกระแทก ถูกของมีคม โรคตาหรือโรคทางกาย เช่น การอักเสบในลูกตา เบาหวาน และสาเหตุอื่นซึ่งพบได้น้อย เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด

อาการ
จะมีตามัวลงเหมือนมีหมอกหรือฝ้าบัง มักมัวมากตอนกลางวันหรืออยู่ในที่มีแสงจ้าและเห็นชัดตอนกลางคืน บางรายเห็นภาพซ้อน หรืออาจมีสายตาสั้นและต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ ช่วงแรกใส่แว่นตาอาจเห็นชัดขึ้น แต่เมื่อแก้วตาขุ่นมาก แม้ใส่แว่นก็ไม่ดีขึ้น และบางรายมีการเห็นสีเปลี่ยนแปลง ในรายที่เป็นต้อกระจกมากพบมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ต้อหิน

การรักษา
การใช้ยาหยอดตาอาจช่วยชะลอต้อกระจกในรายที่เป็นน้อยๆ แต่เมื่อแก้วตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดลงจนถึงขั้นเห็นแต่แสงลางๆ ได้ ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือสลายต้อกระจก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเพื่อปรับสายตาให้เห็นเป็นปกติ ซึ่งการมองเห็นหลังการผ่าตัด หากผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติหรือโรคของส่วนอื่นๆ ของตา เส้นประสาทตา หรือสมองที่ควบคุมการมองเห็นและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีการมองเห็นที่ดีขึ้นหลังการผ่าตัด ดังนั้นหากรู้สึกว่าตามัวลงควรปรึกษาจักษุแพทย์

โรคตาแห้ง

โดยปกติแล้วคนเราจะผลิตน้ำตาออกมาหล่อเลี้ยงผิวตา (เยื่อบุตาและกระจกตา) เพื่อช่วยเคลือบผิวตาทำให้มีการมองเห็นชัดเจน ไม่ฝืดตาเวลากะพริบตา ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อผิวตา และยังมีสารช่วยต้านทานการผลิตเชื้อต่อผิวตา

หลังจากที่น้ำตาถูกผลิตและหลั่งออกมาแล้วจะต้องอาศัยการกะพริบตาเพื่อช่วย ให้น้ำตากระจายทั่วผิวตา น้ำตาที่ปกตินั้นจะต้องปกติทั้งคุณภาพและปริมาณ มีการกระจายตัวทั่วผิวตาและระบายออกเป็นปกติ ถ้าส่วนใดผิดปกติจะเสียหายได้ ดังนั้นตาแห้งคือภาวะที่น้ำตามีปริมาณลดลง คุณภาพของน้ำตาเสื่อมลง หรือมีการกระจายตัวของน้ำตาไม่ทั่วผิวตา ทำให้ผิวตาถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการของโรคตาแห้งขึ้น

อาการ
ผู้ป่วยโรคตาแห้งอาจแทบไม่มีอาการแสดงออก หรือบางคนอาจมีอาการรุนแรง โดยเริ่มต้นมักมีอาการไม่สบายตา รู้สึกฝืดเคืองตา แสบตา ตามัวเมื่อจ้องอะไรนานๆ โดยถ้ากะพริบตามักเห็นชัดขึ้น อาการเหล่านี้มักเป็นมากในตอนเย็นๆ เนื่องจากใช้ตามาตลอดทั้งวัน หรือเป็นมากเมื่อโดนลมหรือแอร์ ต่อมาเมื่ออาการเป็นมากขึ้นจะมีอาการระคายเคือง เหมือนมีอะไรอยู่ในตาจนกระตุ้นให้มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ ตาแดง สู้แสงไม่ได้ ตามัวตลอดเวลา อาจเป็นแผลถลอกที่กระจกตา และเกิดการติดเชื้อในที่สุด ถ้ารุนแรงมากตาอาจติดเชื้อจนตาบอดได้

สาเหตุ
1.มีการสร้างน้ำตาลดลง มักพบในผู้สูงอายุ หญิงวัยหมดประจำเดือน ทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน ผู้ที่ทานยาบางชนิด นอกจากนี้อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคข้อ ผู้ที่เคยผ่าตัดทำเลสิกหรือเปลี่ยนกระจกตา หรือผมในผู้ป่วยที่มีอาการปากแห้งร่วมกับตาแห้งและมีโรคข้อร่วมด้วย
2.มีการระเหยของน้ำตาเร็วขึ้น มักพบในผู้ที่มีต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบ ผู้สูงอายุวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่กินยาแก้สิวบางชนิด ผู้ที่หลับตาไม่สนิท


การรักษา
1.รักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดการตาแห้ง เช่น ใส่คอนแทคเลนส์ให้น้อยลง รักษาภาวะเปลือกตาอักเสบ จนท้ายสุดคือผ่าตัดแก้ไข
2.ปรับสภาพแวดล้อมและการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน ทำได้ไม่ยาก เช่น หากใช้สายตาในการทำงานมาก ควรพักสายตาเป็นระยะทุก 30 นาที ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ให้ปรับหน้าจอให้ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 1 ฟุต เพราะช่วยให้ไม่ต้องลืมตากว้างเมื่อเทียบกับจอคอมพ์ที่อยู่สูงหรือเท่ากับ ระดับสายตา ทำให้ช่วยลดการระเหยของน้ำตา ทำให้สถานที่ทำงานมีแสงสว่างมากพอจะได้ไม่เพ่งสายตามาก เพราะการเพ่งมากจะทำให้กะพริบตาน้อย ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศแห้ง เช่น ห้องแอร์นานๆ อย่าให้แอร์หรือพัดลมเป่าโดนหน้า กินอาหารที่มีวิตามินเอมากๆ เช่น ฟักทอง แครอต ผักใบเขียว นม
3.การใช้น้ำตาเทียมจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำตาและเคลือบผิวตาให้ชุ่มชื่นได้นานขึ้น จะหยอดบ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรง
4.การใช้ยาลดการอักเสบ บางครั้งตาแห้งเกิดจากผิวตาที่อักเสบหรือตาแห้งเองทำให้ผิวตาอักเสบตามมา กรณีมีต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบอาจต้องใช้ยากินร่วมด้วย
5.การผ่าตัด ได้แก่ การอุดท่อน้ำตา การผ่าตัดเปลือกตา

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon