Sunday, June 28, 2009

กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ


"กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ : อาจจะต้องรออีกนาน"

ท่าม กลางบรรยากาศ ที่โรคหวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 กำลังระบาดอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ เราคงจะต้องแสดงความชื่นชมผู้ที่คิดประโยคที่ว่า “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” เพราะถ้อยคำคล้องจอง จำง่าย และได้ใจความชัดเจน

ผมไม่รู้ จะเรียกประโยคนี้ว่า เป็น คำขวัญ หรือ สโลแกน แต่คงต้องยอมรับว่า ถ้าคนไทยสามารถปฏิบัติตนได้เช่นนั้นจริง ย่อมมีสุขอนามัยที่ดี และนอกจากจะทำให้พ้นภัยจากโรคหวัดสายพันธุ์ใหม่แล้ว ก็จะปลอดจากโรคติดต่ออื่นๆ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น ผมคิดว่า เราคงคาดหวังวิธีปฏิบัติเช่นนั้นได้ยาก


เวลาไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารหรูในศูนย์การ ค้าฯ ต่างๆ นั้น บางครั้งผมก็ได้แวะไปใช้บริการห้องน้ำในศูนย์การค้าเหล่านั้น และพบว่าพนักงานบริการของร้านอาหาร ต่างแวะเวียนเข้าไปใช้ห้องน้ำเช่นกัน แต่ที่ทำให้เสียความรู้สึกมากก็คือ บ่อยครั้งมาก ที่ผมแอบสังเกตว่าพนักงานบริการของร้านอาหาร ส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจที่จะล้างมือกันเลย

เอา เป็นว่า ไม่ต้องถามว่า เขาจะล้างมือด้วย สบู่ หรือเปล่าก็แล้วกัน เพราะแม้แต่ล้างด้วยน้ำเปล่าๆ เขาก็ยังไม่ค่อยจะทำกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปใช้ห้องน้ำประเภทหนัก หรือเบา !

เวลาเห็นแบบ นี้ พอผมกลับไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคาร และมีพนักงานบริการเข้ามาให้บริการหยิบช้อนส้อม หรือส่งแก้วน้ำให้ แม้จะไม่ใช่พนักงานบริการคนที่ผมได้พบเห็นในห้องน้ำก็ตาม แต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะจินตนาการไปในทางร้ายว่า “คนนี้ก็คงไม่ได้ล้างมือเหมือนกันแหละ” พอคิดเช่นนี้ ก็รู้สึกแย่เหมือนกัน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากทำใจอย่างเดียว เพราะอย่างไรเสียผมก็ต้องรับประทานอาหารที่ร้านนั้นอยู่ดี และคิดเอาเองว่า พนักงานบริการที่ร้านอาหารอื่นๆ ก็น่าจะมีพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำที่ไม่แตกต่างกัน เท่าใดนัก
ผมเคยถามลูกสาวว่า ในห้องน้ำสตรีนั้นพนักงานบริการหญิง เขาล้างมือกันหรือไม่ คำตอบก็ออกมาในลักษณะเดียวกันว่าเคยเห็นบ่อยๆ เหมือนกันที่เขาไม่ค่อยจะล้างมือกัน แต่ความจริงแล้ว ผมคิดว่าไม่เพียงพนักงานบริการในร้านอาหาร หรือร้านค้าประเภทอื่นเท่านั้น ที่ละเลยการล้างมือหลังการใช้ห้องน้ำ แม้พนักงานบริษัทใหญ่ๆ ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่า ก็มีพฤติกรรมในลักษณะนี้เช่นกัน แต่อาจจะมีสัดส่วนที่น้อยกว่า

ช้อนกลางก็ เช่นกัน ผมคิดว่าคนไทยยังไม่จริงจังกับเรื่องนี้เท่าใดนัก เราไม่มีวัฒนธรรมในเรื่องนี้ที่เข้มแข็ง เพราะถ้าจะทำให้สำเร็จก็ต้องเริ่มต้นจากที่บ้าน ซึ่งผมคาดว่า ยังมีครอบครัวไทยจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ไม่ใช้ช้อนกลางที่บ้าน

นอกจากนั้น เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนฝูงในที่ทำงาน หรือในงานสังคมต่างๆ ถึงแม้จะมีบางคนร้องขอช้อนกลาง แต่ถ้าผู้ร่วมวงอาหารส่วนใหญ่ หรือจำนวนหนึ่งยังไม่ยอมใช้ช้อนกลาง เพราะความเคยชินที่ติดมาจากที่บ้าน การใช้ช้อนกลางก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หรือถ้าใช้กันเพียงคนสองคนก็ไม่เกิดประโยชน์อยู่ดี

การสร้าง คำขวัญ หรือ สโลแกน ในวาระและโอกาสต่างๆ นั้น มีเกิดขึ้นเสมอๆ แต่คำขวัญ หรือ สโลแกนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นแล้วก็หายไปโดยไม่เกิดประโยชน์เท่าใดเลย ประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องทำให้มีการขับเคลื่อนให้มีการปฏิบัติตามแนวทางของคำขวัญ หรือสโลแกนนั้นๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ทุกปีเราจะมีคำขวัญวันเด็ก ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นๆ จะมอบให้แก่เด็ก ผมถามจริงๆ ว่าวันเด็กปีนี้ เพิ่งจะผ่านไปไม่กี่เดือน มีผู้ใหญ่ที่ยังจำคำขวัญวันเด็กของปีนี้ได้สักกี่คน

โรงเรียนต่างๆ ก็อาจจะพิมพ์คำขวัญวันเด็กของปีนั้นๆไว้ในที่ต่างๆ ของโรงเรียน แต่เมื่อคำขวัญวันเด็กเปลี่ยนไปทุกปี ความหมายของมันก็แทบจะไม่เหลืออะไร กลายเป็นถ้อยคำใหม่ๆ ที่ไพเราะ ปรากฏให้เห็น และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

การที่จะทำให้คำขวัญหรือสโลแกนบังเกิดผลขึ้นมาเป็น เรื่องที่ยากมาก และคงจะต้องเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนจากคำขวัญธรรมดาๆ ให้เป็นการรณรงค์ เช่น การรณรงค์ เรื่องเมาไม่ขับ หรือเรื่องการสูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งแม้กระทั่งการรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ ซึ่งทำมานานมาก และเริ่มได้ผล แต่ก็ยังมีพฤติกรรมเมาแล้วขับ เกิดขึ้นเสมอๆ ส่วนเรื่องการสูบบุหรี่นั้น ดูจะได้ผลดีมากทีเดียว

เราเคยได้ยิน กิตติศัพท์เรื่องห้องน้ำในประเทศจีนมานานแล้ว ผมเองหลีกเลี่ยงไม่ยอมไปเมืองจีนมานานหลายปีมาก จนหลังจากที่ประเทศจีนประสบปัญหาเรื่องโรคซาร์ส และต่อมาต้อง
เตรียมการ แข่งขันกีฬาโอลิมปิก จีนจึงต้องสร้างห้องน้ำให้สะอาด และได้มาตรฐานสำหรับรองรับชาวต่างชาตินั่นแหละ ผมจึงได้ตัดสินใจไปเยือนเมืองจีน แต่ก็ยังพบว่าความสะอาดต่ำกว่าเกณฑ์ที่เราอยากเห็นค่อนข้างมาก

แม้ ห้องน้ำจะดีขึ้น แต่เวลาเข้าห้องน้ำหรือเดินอยู่บนท้องถนน บางครั้งคนที่ยืนข้างๆ เราเขาก็ “ขาก... ถ...” เสียเฉยๆ อย่างนั้นแหละ ทำเอาเราต้องรีบกลั้นหายใจ หรือเดินหลบไปอย่างรวดเร็ว เหล่านี้เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าในแต่ละสังคมก็มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อย จะเหมาะสม หรือไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งจะต้องแก้ไขกันทั้งนั้น

โรคซาร์ ส ซึ่งทำให้คนเสียชีวิตกันมาก และกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหนักจึงเป็นเหตุให้ประเทศจีนอยู่เฉยๆ ไม่ได้ และต้องรณรงค์อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำ สำหรับบ้านเรานั้นก็อาจจะไม่แตกต่างกันนัก คือถ้าอะไรไม่เลวร้ายจริงๆ ก็คงจะไม่รณรงค์กัน หรือรณรงค์ก็ไม่ค่อยได้ผล

เมื่อโรคหวัดสาย พันธุ์ใหม่เริ่มระบาดมาถึงประเทศไทย เราก็ตื่นตระหนกกันยกใหญ่ พอมีคนไข้ต้องสงสัยเพียงไม่กี่ราย ก็เป็นข่าวใหญ่โต แต่ตอนนี้เป็นโรคหวัดสายพันธุ์นี้กันหลายร้อยคน และส่วนใหญ่ก็รักษาหาย ไม่ตายกันง่ายๆ เลยดูเหมือนว่าผู้คนส่วนใหญ่ หายตื่นตระหนกกันไปเสียแล้ว และเมื่อความกลัวหายไป “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ก็คงจะค่อยๆ จางหายไปตามกระแสนี้ด้วย

ก็กินไม่ร้อน ช้อนกลางไม่มี และกินอย่างนี้มาตั้งหลายปี ไม่เห็นจะเป็นอะไร ส่วนมือนั้นเล่า จะล้างไปไย ไม่ได้เปื้อนดิน เปื้อนฝุ่นเลยแม้แต่น้อย เฮ้อ..... เมื่อไหร่หนอ คนไทยเรา จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องนี้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้น และเพื่อสังคมที่เข้มแข็งขึ้น เพราะเมื่อผู้คนสุขภาพดี สังคมก็ย่อมดีตามไปด้วย

หรือว่าจะต้องรอให้มีโรคระบาดที่ทำให้มีคน เสียชีวิตจำนวนมากจนน่าตกใจเสียก่อน แล้วจึงจะกลับมา “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กันอีกครั้ง?


By warapatr

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon