Thursday, July 23, 2009

ตรวจสุขภาพกันดีกว่า

การทำงานของอวัยวะระบบต่างๆ ของคนเปรียบเสมือนการทำงานของเครื่องจักรหรือรถยนต์ ที่ต้องได้รับการตรวจสภาพการใช้งานอย่างสม่ำเสมอว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหาย หรือไม่ เพื่อทำการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน



การ ดำเนินชีวิตในปัจจุบันต้องเผชิญกับ ปัญหามลพิษต่างๆ มากมาย ร่างกายได้รับสารพิษและเกิดการสะสมอยู่ในร่างกายโดยที่เราไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดโรคบางอย่างที่อาการยังไม่แสดงออกมาให้เห็น แต่เมื่อทราบก็สายเกินกว่าที่จะแก้ไข

ในแต่ละปี เราควรจัดเวลาให้ตัวเองในการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆ ของร่างกายอย่างละเอียด การตรวจสุขภาพจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคบางโรคได้ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น และยังช่วยให้ทราบถึงรอยโรค ก่อนที่จะลุกลาม ร้ายแรง จนยากจะเยียวยา หรือสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการตรวจสุขภาพ

วัดความดันโลหิต ชีพจรและตรวจร่างกายโดยแพทย์ (PE) ตรวจระดับความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไปว่า ลักษณะและอวัยวะต่างๆ เช่น หู คอ จมูก ปอด การเต้นของหัวใจปกติหรือไม่

ความผิดปกติของเม็ดเลือด เกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด (CBC) เพื่อให้ทราบว่าเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ ปริมาณและชนิดของเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ อาจนำไปสู่การติดเชื้อ และเพื่อตรวจหาโรคมะเร็งในเม็ดเลือด

ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) เพื่อตรวจหาความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย

การทำงานของไต (BUN) เป็นการวัดระดับสารเคมีในเลือดเพื่อดูความสามารถของไตในการขับถ่ายของเสียและการตรวจหาภาวะไตเสื่อม ไตวาย

การทำงานของตับ (SGOT & SGPT) เพื่อตรวจปริมาณเอนไซม์ในตับว่าผิดปกติหรือไม่ หากมีค่าสูงกว่าปกติ แสดงว่าอาจมีอาการตับอักเสบ

การทำงานของตับอย่างละเอียด (Alkaline Phosphatase & Bilirubin) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของตับ เช่น ดีซ่าน ท่อน้ำดีอุดตัน

ไขมันโคเลสเตอรอล (Cholesterol) เพื่อตรวจระดับไขมันโคเลสเตอรอลในเลือด ว่ามีปริมาณสูงเกินไปหรือไม่ หากระดับไขมันสูงจะทำให้หลอดเลือดอุดตัน เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพาต อัมพฤกษ์

ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เพื่อตรวจหาไขมันในเส้นเลือดที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ

กรดยูริกในเลือด (Uric Acid) เพื่อตรวจหาโรคเกาท์ ถ้าระดับกรดยูริกสูงกว่าปกติอาจก่อให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ปัสสาวะ (Urine) เพื่อตรวจความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคไต ตลอดจนการตกค้างของสารเสพติด

อุจจาระ (Stool Examination) เพื่อตรวจหาพยาธิชนิดต่างๆ และระบบขับถ่ายว่าผิดปกติหรือไม่ สังเกตได้จากอุจจาระที่มีเลือดปนออกมา อาจเกิดความผิดปกติของลำไส้ใหญ่หรือริดสีดวงทวาร

เอกซเรย์ปอดและหัวใจ (Chest X-ray) เพื่อตรวจดูสภาพปอด เยื่อหุ้มปอดและหัวใจ และกระดูกช่องอก โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับสารพิษติดเชื้อ อาจทำให้ปอดผิดปกติซึ่งเป็นสาเหตุของวัณโรค โรคถุงลมโป่งพอง

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อตรวจการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง เป็นต้น

อัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen) เพื่อ ตรวจดูอวัยวะภายในช่องท้องส่วนบนว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ได้แก่ ตับ ม้าม ถุงน้ำดี ตับอ่อน ไตและเส้นเลือดขนาดใหญ่ โดยใช้หลักการสะท้อนของคลื่นเสียง

เอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper GI) การเอกซเรย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ว่ามีเนื้องอก การอักเสบหรือลักษณะความผิดปกติอื่นๆ

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ที่มา:http://men.mthai.com/content/1899

0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon