Saturday, July 18, 2009

ทำอย่างไรให้"เด็ก"ปลอดภัย ใน"อินเตอร์เน็ต"


ผมชอบ การได้นั่งพูดคุยกับ "เอฟเฟนดี้ อิบราฮิม" ครับ เอฟเฟนดี้เป็นหัวหน้าส่วนธุรกิจคอนซูมเมอร์ โปรดักส์ ของไซแมนเทค ประจำภาคพื้นเอเชีย เจอกันทีไรผมมักได้แนวคิดเกี่ยวกับ "ความปลอดภัย" บนอินเตอร์เน็ต ดีๆ จากเขาทุกครั้ง

พบกันคราวนี้เขาเล่าให้ผมฟัง เรื่อง นอร์ตัน ออนไลน์ ลีฟวิ่ง รีพอร์ต การสำรวจความคิดเห็นของการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ทั่วโลกที่ ไซแมนเทคจัดทำขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ครอบคลุมเรื่องพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตทั้งของผู้ใหญ่ และของเด็กๆ มีหลายอย่างที่น่าสนใจในนั้นครับ แต่ที่เรียกความสนใจผมมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องพฤติกรรมของเด็กๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ในโลกไซเบอร์ขึ้นมา โดยอาศัยหลักการที่ผมเชื่อของผมเองว่า มีประโยชน์อย่างมากครับสำหรับการช่วยเหลือทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็กๆ ให้อย่างน้อยที่สุดก็ปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิมในโลกออนไลน์

ข้อมูลที่ น่าสนใจที่ว่านั้น อาทิ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ปกครองเด็กๆ ทั่วโลก มีความเห็นว่า ลูกๆ หรือเด็กในความปกครองของตนเองใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ "มากเกินไป" ส่วนนี้ถือว่าไม่น่าแปลก ที่น่าแปลกใจก็คือผลสำรวจออกมาว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ ทั่วโลก ยอมรับเช่นกันว่า เวลาที่พวกเขาใช้ออนไลน์นั้น มากเกินไปจริงๆ ยิ่งกว่านั้นนะครับ 1 ใน 5 ของเด็กๆ ยอมรับด้วยว่า เขาใช้เวลาเข้าถึงข้อมูลหรือเว็บไซต์ที่ "ไม่เหมาะสม" ทั้งๆ ที่ตระหนักดีเช่นกันว่า ถ้าพ่อรู้หรือแม่รู้เข้า ตัวเขามีหวัง "โดนดี" แน่ๆ

เอฟเฟนดี้ อิบราฮิม


นั่น หมายถึงว่า มีเด็กๆ 1 คนในทุกๆ 5 คนกำลังแสวงหาอันตรายใส่ตัว ทั้งๆ ที่รู้ดี ถ้ารวมเข้ากับสัดส่วนของเด็กๆ ที่ทำอย่างเดียวกันโดยไม่รู้ เราก็จะตระหนักได้ว่า ลูกๆ ของเรากำลังเสี่ยงอันตรายอยู่มากน้อยแค่ไหนขณะท่องเน็ต เปิดช่องให้เด็กๆ อาจตกเป็นเหยื่อถูกล่อลวงทางเพศ หรือถูกคุกคามข่มขู่ ซึ่งบางครั้งบางคราวอย่างที่เรารู้กันมันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ข้อ เท็จจริงที่ว่านั้นทำให้ไซแมนเทค ได้ตระหนักว่า จริงๆ แล้วการบล็อคเว็บไซต์ของเด็กๆ นั้นไม่เพียงพอ หนทางเดียวที่จะทำให้เด็กๆ ปลอดภัยมากขึ้นก็คือการใช้ "ผู้ใหญ่" นั่นแหละครับเป็นเครื่องมือ ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยการที่ทำให้เด็กๆ ในปกครองและผู้ใหญ่สามารถสื่อสารกันใกล้ชิดมากขึ้น ช่วยกันจัดระเบียบการใช้ชีวิตออนไลน์เสียใหม่ให้ปลอดภัยมากขึ้นและรู้ล่วง หน้าว่า ลูกๆ ของเรากำลังเสี่ยงอันตรายอยู่ก่อนที่อันตรายจะย่างกรายมาถึงตัว

ด้วย หลักการที่ว่า ไซแมนเทค เลยเปิดบริการที่เรียกว่า ออนไลน์ แฟมิลี่-นอร์ตัน เซอร์วิส ขึ้น บริการที่ว่านี้เป็นบริการผ่านเว็บไซต์ อาศัยหลักการที่ว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้ปกครองสามารถ "มองเห็น" พฤติกรรมออนไลน์ทั้งหมดของเด็กๆ ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเด็กๆ ตลอดเวลา หรือต้องจับจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา

แต่ด้วยเหตุ ที่ว่า บริการดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป็นการ "ควบคุม" หากแต่เป็นไปเพื่อ "พูดคุย ทำความเข้าใจ" ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่มากกว่าอย่างอื่น เอฟเฟนดี้ จึงบอกว่าก่อนที่จะติดตั้งบริการดังกล่าวนี้ ต้องมีการพูดคุยกันกับเด็กๆ เพื่อหากฎเกณฑ์ในการใช้งานอินเตอร์เน็ตร่วมกัน และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งรวมถึงการยอมรับกันตั้งแต่แรกเริ่มด้วยว่า หากมีการละเมิดกฎเกณฑ์ที่ "ช่วยกัน" คิดขึ้นมา โทษของมันจะเป็นอย่างไร

ด้วยบริการนี้ ทำให้ผู้ใหญ่สามารถรับรู้และเข้าใจความต้องการของเด็กๆ ได้ รู้ว่าพวกเขาใช้คำหรือวลี หรือประโยคอะไรเข้าไปสืบค้นหาสิ่งที่ต้องการในกูเกิ้ลหรือเสิร์ชเอ็นจิ้น ต่างๆ รู้ว่าเขาเข้าไปในอินเตอร์เน็ตแล้วไปเยี่ยมเว็บไซต์ไหนบ้าง และให้ความสนใจกับเรื่องอะไรมากเป็นพิเศษ สามารถเห็นได้ว่า เขาแสดงตัวเองบน "เฟซบุ๊ก" หรือ "ไฮไฟว์" อย่างไร เข้าไปใช้งานบ่อนและนานแค่ไหน แช็ตอยู่กับใครด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง แอบเข้าไปในเว็บไซต์อันตรายที่ตกลงกันไว้แล้วว่าจะเป็นเว็บ "ต้องห้าม" สำหรับพวกเขาหรือไม่ และกำลังเปิดเผยข้อมูลที่จะกลับมาเป็นอันตรายต่อพวกเขาเองในภายหลังหรือไม่

แต่ เพราะบริการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันอย่างที่ว่า มันจึงมีเครื่องมือให้เด็กๆ สามารถส่งข้อความบอก หรือแช็ตกับพ่อแม่แบบเรียลไทม์ได้เพื่อขออนุญาตทำในสิ่งที่ก่อนหน้านี้เคย ถือกันว่าเป็นข้อห้าม ด้วยเหตุและผลที่สมควร ในขณะเดียวกัน การติดตามต่างๆ ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและความต้องการเมื่อเวลาผ่านไปได้อีก ด้วย

ใครที่สนใจอยากใช้เครื่องมือนี้ สามารถเข้าไปล็อกอินใช้งานได้ที่ http://onlinefamily.norton.com ครับ

บริการ นี้ มีเฉพาะที่เป็นภาษาอังกฤษและเปิดให้ใช้งานได้ฟรีๆ จนกระทั่งถึงวันที่ 1 มกราคม ปี 2553 นี้เท่านั้น ผมอยากให้พ่อแม่ทุกคนแวะเวียนเข้าไปดูกัน

เอ ฟเฟนดี้ บอกผมว่าไซแมนเทค ยังไม่คิดครับว่า จะทำอย่างไรกับบริการนี้ในอนาคต จะมีภาษาไทยหรือเปล่าจะเก็บเงินหรือไม่ และแพงแค่ไหน แต่ถึงจะไม่มีภาษาไทย และไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายหรือไม่ในอนาคต ผมว่า หลักการคิดของเขาน่าสนใจและน่าเอามาประยุกต์ใช้นะครับ

เอาแค่ เริ่มต้นด้วยการพูดคุยเพื่อตั้งข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้อินเตอร์เน็ตกับลูกๆ และหาหนทางคุยเพื่อให้ได้รู้เรื่องว่าเขาเข้าไปเว็บไซต์อะไรมาบ้างได้ ก็น่าจะช่วยเหลือลูกๆ ของเราได้มากโขแล้วละครับ
วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11452 มติชนรายวัน
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th


0 comments:

Post a Comment

 

sanookde Copyright © 2009 Girlymagz is Designed by Bie Girl Vector by Ipietoon